...นภันต์ เสวิกุล
“ผู้บันทึกย่างพระบาทที่ยาตรา”
เบื้องหลังภาพถ่ายหลายภาพที่ถูกแชร์ออกไปในโลก
โซเชียลคือผลงานของผู้ชายคนนี้
ทว่าเหตุผลในการให้สัมภาษณ์ครั้งนี้ไม่ได้มีเจตนาแม้เพียงเล็กน้อยที่จะแสดงความเป็นเจ้าของภาพพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ความมุ่งหวังเพียงอย่างเดียวคือการเล่าถึงพระวิริยะอุตสาหะของพระองค์ที่ได้สัมผัสตลอดระยะเวลาของการทำงานรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท
“ผมเป็นคน
ทำโปรดักชั่น
สมัยใหม่ก็ต้องบอกว่าเป็น
โปรดักชั่นเฮาส์ และออแกไนเซอร์ เจ้าแรกของเมืองไทย
ผมก็เป็นคนที่ทำสไลด์มัลติวิชั่นคนแรกที่เข้าไปสู่วงการโฆษณาก็ทำให้ได้ไปทำงานให้กับคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติอยู่หลายปี
จนกระทั่งในที่สุดตัวเองก็ได้เป็นคณะอนุกรรมการภาพนิ่งและภาพยนตร์ของสำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติร่วมกับผู้ใหญ่หลายคนที่ผมเคารพนับถือ”
นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ ‘นภันต์’
ช่างภาพหนุ่มในเวลานั้นได้มีโอกาสติดตามขบวนเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยียนราษฎร
“ประมาณปี พ.ศ.2520 กรรมการก็มอบหมายให้ผมเป็นคนที่ทำงานเก็บข้อมูลเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ ปีแรกทำเรื่องรัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 9
ซึ่งในส่วนของรัชกาลที่ 9 ทำให้ผมต้องตามเสด็จฯ แล้วก็ตามอยู่หลายปี ประมาณ 6-7 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2522 เป็นต้นมา
โดยช่วงปี
พ.ศ.2522 -2525
เป็นช่วงเวลาที่ตามเสด็จฯเยอะเพราะว่าเตรียมข้อมูลสำหรับงานฉลองกรุงเทพฯ 200 ปี ในปี พ.ศ.2525”
เขาว่า
แม้ภารกิจการถ่ายภาพจะไม่ได้เกินความสามารถ
แต่งานครั้งนี้ก็หนักหนาสาหัสกว่าทุกงานที่ผ่านมา
“ปีแรกนี่เหนื่อยเลยเพราะว่าเราอยู่ประมาณรถคันที่ 13,14,15 เมื่อพระองค์ท่านจอด... คือระหว่างเสด็จพระราชดำเนิน
ถ้าพระองค์ท่านต้องพระประสงค์ พระองค์ท่านจะจอดก็จอด
เพราะพระองค์ทรงขับรถเอง
จอดปุ๊บเราก็วิ่งลงไปกว่าจะถึงเนี่ยบางทีพระองค์คุยจบแล้ว
แล้วเราจะยืนคอยรถอยู่ก็ไม่ได้ต้องวิ่งสุดชีวิตกลับมา ช่วงแรกมีผมคนเดียว
ช่วงปีที่สองที่สามต่อมา
คุณหญิงคณิตา
เลขะกุล บ.ก.
อนุสาร อสท.
ในเวลานั้นตามไปด้วยเพราะท่านก็เป็นอนุกรรมการด้วย
อีกคนที่มาหลังผมหน่อยก็คือคุณดวงดาว
สุวรรณรังษี
ที่เป็น บ.ก. อนุสาร อสท. รุ่นหลังๆนั่นก็วิ่งกับผมมาเหมือนกัน”
ทุกเส้นทางที่พระองค์เสด็จฯ
ไปทรงงานเรื่องความยากลำบากไม่ต้องพูดถึงบางพื้นที่ต้องเดินเท้านานนับชั่วโมง
“เอาง่ายๆอย่างไปแม่แจ่มสมัยโน้นไม่ใช่ขึ้นไป
อินทนนท์แล้วลงมามีถนนลาดยางลงถึง
ไม่ใช่ต้องไปอ้อมฮอดแล้ววกเข้ามาข้างใน
ถนนไม่มี
ทางลูกรังอย่างเดียวก็แปลว่าจะไปแม่แจ่มนี่สิบชั่วโมงไม่ถึง
ขับรถไม่ถึง
ไม่ใช่ไม่ถึงสิบชั่วโมงนะ
สิบชั่วโมงไม่ถึง ออกตีสามบ้าง
ตีสองบ้าง
แต่เราว่าลำบากแล้วพระองค์ท่านลำบากกว่าเราอีก เพราะว่าบางทีเราได้รูปแล้วเราก็หยุด แต่พระองค์ท่านยังไม่ได้น้ำ
น้ำหมายความว่า พระองค์ทรงไปหาน้ำให้ชาวเขา
เสด็จพระราชดำเนินขึ้นเขาไปสามลูกสี่ลูก บางทีเราก็ไม่ตาม”
เมื่อมองย้อนกลับไป
นภันต์ยอมรับว่า แม้ตัวเองจะเหนื่อย “แต่พระองค์ท่านเหนื่อยกว่าแน่ๆ แต่ไม่แสดงออก”
“อย่างที่เสด็จฯ ปลวกแดงเนี่ย
วันนั้นทหารเป็นเจ้าภาพ
เขาก็ไปปรับที่ เพราะราษฎรทั้งระยอง ทั้งปราจีนฯ มากันเต็ม
ซุ้มรับเสด็จฯนี่ยาวเป็นกิโล
เขาก็เอาหินฝุ่นหยาบมาโรย
สวยนะครับ
แต่ร้อนนะฮะ
ร้อนแบบสาหัสเลย แล้วมันก็คมด้วย เราเดินไปแป๊บเดียวก็จะเป็นลมแล้ว
พระองค์ท่านประทับอยู่ถึงสี่ทุ่มกว่า”
พ้นจากอุปสรรคเรื่องการเดินทาง ภารกิจที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือการบันทึกภาพพระราชจริยวัตรให้สมพระเกียรติ
“สมัยนั้นสำนักพระราชวังค่อนข้างเข้มงวดในการถ่ายภาพพระราชอิริยาบถของเจ้านายทุกพระองค์ เช่น
ก้าวเดินไม่ได้ต้องให้พระองค์หยุดแล้วถึงถ่ายรูป ทำให้บางทีเราในฐานะคนทำสารคดีก็จะถูกเอ็ดประจำว่ารูปที่นำมาเผยแพร่เนี่ยพระองค์ไม่สวยในสายตาของผู้ใหญ่
แต่ผมคิดว่าการที่พระองค์ทรงมีพระเสโทเต็มพระพักตร์ ต่างๆนานา สามารถถ่ายทอดสื่อความหมายได้ รุ่นผมก็จะกลายเป็นรุ่นหัวแข็ง ผู้ใหญ่ก็อาจจะโกรธ แต่ว่าเราก็ทำงานของเรา”
สำหรับการถ่ายภาพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ช่างภาพคนนี้บอกว่า
ความง่ายอยู่ตรง “พระองค์ประทับนิ่งและนาน”
ส่วนความยากคือเรื่องสภาพแวดล้อม
“เรื่องที่พระองค์ท่านทรงคุยกับราษฎรก็จะเป็นเรื่องเดิมๆ
ทรงรับสั่งถามว่า พอมีพอกินไหม อะไรคืออุปสรรคปัญหา น้ำมีไหม น้ำอยู่ที่ไหน ปีนี้ได้ข้าวเท่าไหร่
ต่างๆนานา
พระราชอิริยาบถของพระองค์นิ่งๆ เพราะฉะนั้นการถ่ายภาพก็ง่าย
แต่เราอยู่ในตำแหน่งที่ถ่ายยาก เพราะว่าจะมีองครักษ์
เจ้าหน้าที่กองราชเลขาธิการ
ถ้าเป็นปักษ์ใต้ก็จะมีล่าม
ซึ่งจะบังเราก็ต้องหลบ
หลบเหลี่ยมให้พ้นแล้วก็ไม่ทำอะไรที่เป็นที่ผิดสังเกต เช่นไม่ยุกยิก
ต้องรู้ว่าถ่ายรูปแล้วต้องรีบลดกล้อง หลีกเลี่ยงการใช้แฟลช
อันนี้เราก็จะรู้หน้าที่อยู่”
เมื่อถามถึงเบื้องหลังภาพพระบรมฉายาลักษณ์ที่พระองค์ประทับยืนถือแผนที่โดยมีฉากหลังเป็นภูเขา (ภาพปกเสาร์สวัสดีฉบับนี้)
ซึ่งมีการแชร์กันเป็นจำนวนมาก นภันต์เล่าถึงเหตุการณ์ในวันนั้นว่า
“รูปนั้นเป็นวันเสด็จฯบ้านแกน้อย ที่จริงอยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองเชียงใหม่เลย
ขับรถชั่วโมงกว่าๆ ก็ถึงแล้ว
แต่วันนั้นเราขับรถไปสี่ห้าชั่วโมงกว่าจะถึง
พระองค์เสด็จฯมากับเฮลิคอปเตอร์ เราไปยืนรอก่อน โอ้โห...
ตัวละลาย เพราะว่าข้างหน้าคือฝุ่นแดงอันมหาศาล
ทั้งภูเขาไม่มีต้นไม้เลย
มีแต่ความแห้งแล้ง ตรงที่พระองค์เสด็จฯเป็นบ้านมูเซอแดง
แล้วก็เป็นโรงเรียน แล้วระหว่างที่พระองค์ท่านประทับกับราษฎร ผมยืนอยู่ห่างสักประมาณสิบเมตร ถ่ายรูปพระองค์เสร็จก็ยืนคอยอยู่เฉยๆ ปรากฏว่ามีลมหมุน
ฟรืด…ดินแดงก็วนขึ้นมาแล้วก็ไปคลุมพระองค์ท่านจนกระทั่งแผนที่หลุดไปจากพระหัตถ์ข้างหนึ่ง
พระองค์ก็ทรงตะปบก็เห็นว่าฝุ่นเข้าพระพักตร์
ทุกคนก็ตกใจ
พอฝุ่นจางหน่อย ตอนนั้นพระองค์ท่านทรงถอดฉลองพระเนตรออกแล้วทรงเช็ดพระเนตร แล้วทรงกางแผนที่ใหม่
ทรงงานต่อ
เราร้องไห้เลย ร้องไห้เพราะว่าพระองค์ไม่ต้องมาอย่างนี้ก็ได้ ก็เป็นภาพที่ตัวเองประทับใจมากๆ
หลังจากนั้นอีกสามสิบปีถัดมา
ผมไปที่นั่นอีกครั้ง มันเป็นอะไรที่ช็อค เพราะว่าจากภูเขาหลายลูกที่เป็นทะเลทรายในวันนั้น
วันนี้มันเขียวไปหมด
บ้านแกน้อยก็เป็นโครงการหลวงที่ทำรายได้สูงมาก
ต่อมาเมื่อประมาณสามปีที่แล้ว เนื่องจากผมจบมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ทางคณะสื่อสารมวลชนก็มาขอหนังสือผมเล่มหนึ่ง ชื่อ
“ย่างพระบาทที่ยาตรา”
เอาไปเป็นคอนเซ็ปในการทำงานถวายฯ
ผมก็เลือกรูปหนึ่งที่ชอบมากก็คือรูปนี้ แล้วให้เขาไปออกแบบมาอีกที ก็ทำออกมาเป็นอย่างที่เห็น
เดิมรูปที่ผมถ่ายข้างหลังเป็นภูเขาก่อนทรงงาน แต่รูปที่ทำออกมา
ใช้ภาพภูเขาหลังทรงงานเป็นฉากหลังแทน
หลังวันเสด็จสวรรคต
เช้าวันที่ 14 ตุลาคม
ผมก็โพสต์รูปนี้
ซึ่งเป็นรูปที่อยู่ในคอมพิวเตอร์
เขียนเจ็ดบรรทัด เล่าให้ฟังว่าตัวเองเห็นอะไรวันนั้น
ก็ไม่คิดว่ามันจะถูกแพร่หลายไปมากมายแสดงว่าคนสมัยนี้เขาก็อยากที่จะเข้าใจอะไรที่สิบบรรทัด”
ในวันที่ทราบข่าวว่าพระองค์เสด็จสวรรคต
เขาบอกว่าในความโศกเศร้าเสียใจคือคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับตัวเองว่า
จะทำงานเพื่อเผยแพร่พระราชกรณียกิจให้มากขึ้น
“รู้สึกเสียใจว่าเรามีเวลาตั้งมากมายที่น่าจะทำอย่างนี้ให้กับเด็กสมัยนี้ ผู้คนสมัยนี้ได้เข้าใจพระองค์ท่าน เพราะแม้กระทั่งลูกผมก็ไม่เคยเห็นพระเจ้าอยู่หัว นอกจากเห็นในโทรทัศน์
ผมก็สัญญากับตัวเองว่าจะทำมากขึ้น”
เหตุผลไม่ใช่เพราะพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ แต่ทรงเป็นยิ่งกว่าพระมหากษัตริย์
“มีหลายครั้งที่ผมไปถ่ายภาพพระองค์ท่านแล้วเห็นพระองค์ประทับราบอยู่กับพื้น
หัวเข่าเปื้อนทรายเต็มไปหมด
ผมเคยยกกล้องขึ้นถ่ายรูปเมื่อพระองค์ประทับบนบัลลังก์ในวันฉัตรมงคล พอเห็นภาพอย่างนี้เมื่อไหร่ผมก็น้ำตาไหล
คือทำไมพระองค์ต้องมาทำอย่างนี้ ทรงงานทุกวัน
ตีสามตีสี่ พระองค์ก็ยังทรงงาน
พระองค์เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรทุกวัน 11 โมงเช้า
กลับมาได้เสวยพระกระยาหารค่ำตอนสี่ทุ่ม
เป็นเราก็อยู่ไม่ได้ ไม่มีทาง
แต่พระองค์ทรงทำได้ด้วยความเต็มพระราชหฤทัย
โครงการของพระองค์สี่พันกว่าโครงการ
ทรงติดตามความคืบหน้าทุกโครงการด้วยพระองค์เอง
แล้วโครงการเหล่านั้นก็ได้เดินทางไปสู่ความสำเร็จทุกโครงการด้วยพระองค์เอง
ทรงคิดได้อย่างไร ทรงทำได้อย่างไร คนธรรมดาทำไม่ได้
ไม่มีวัน
ในฐานะช่างภาพบางครั้งก็สงสัยว่าพระองค์ท่านทรงถ่ายอะไร
บางทีแอบ แอบเลยล่ะ แอบไปยืนข้างหลังว่าพระองค์ทรงถ่ายอะไร
คือพระองค์ท่านทรงยกกล้องมาแต่ละครั้งทรงถ่ายของไม่ดีทั้งนั้น ดินแดงแห้งผาก รากไม้ ต้นไม้ล้ม พระองค์ทรงถ่ายภาพเหล่านี้
แต่อีกสิบปีกลับไปดูสิ
ตรงนั้นจะกลายเป็นอ่างเก็บน้ำใหญ่
พระองค์ท่านทรงถ่ายไปต้องคิดไปด้วยแน่ๆว่าจะเอาไปทำอะไร
เพราะฉะนั้นสิ่งที่ได้มาจากรูปของพระองค์ก็คือชีวิต”
ในฐานะช่างภาพที่มีโอกาสได้ตามเสด็จฯ
และซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์
ข่าวการเสด็จสวรรคตจึงเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิตเช่นเดียวกับพสกนิกรทั่วไป
“ตั้งแต่เสด็จ
สววรคตก็ร้องไห้ใหญ่ๆสักสองครั้ง มันเหมือนน้ำตาตกในมั้ง
ทุกวันนี้ตื่นเช้ามาก็ยังถามตัวเองว่า จริงเหรอแต่สุดท้ายก็คิดว่า พระองค์ท่านยังอยู่กับเราไม่เคยไปไหนพระเจ้าอยู่หัวทรงอยู่รอบๆตัวเรา ในคอมพิวเตอร์ผมมีแต่รูปพระเจ้าอยู่หัว กล้องถ่ายรูปผม
ในฐานะช่างภาพ ผมไม่เคยถ่ายรูปคนใครมาจ้างผมถ่ายรูปคนผมไม่รับงานเพราะผมคิดว่ากล้องผมถ่ายรูปพระเจ้าอยู่หัว
ถ่ายรูปสมเด็จพระนางเจ้าฯผมไม่อยากถ่ายรูปอื่นแล้วถึงไม่ทำงานก็ไม่อยากถ่ายรูปคนอื่นแล้ว
ผมก็จะถ่ายใต้น้ำ ถ่ายภูเขา
ไม่ถ่ายคน”
ในวาระแห่งความสูญเสียนี้
นภันต์มีความในใจที่ต้องการส่งถึงคนรุ่นใหม่หรือคนที่อาจจะยังไม่ได้รับรู้ในพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
“เราต้องมีพระเจ้าอยู่หัวอยู่ในหัวใจ อยู่ในจิตวิญญาณของความเป็นคนไทย คนไทยกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ไม่ต้องพระองค์ไหน
ไม่ต้องอะไร
ขอให้มีสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่กับคนไทย
เราก็จะเป็นคนไทย ถ้าเราคิดว่าเรารักประเทศเรา
เราก็ต้องเคารพเทิดทูนพระมหากษัตริย์โดยไม่ต้องมีเงื่อนไข
รักแล้วไม่ต้องถาม ไม่ต้องสงสัย
ผมไม่เคยสงสัยอะไรเลย...ผมรัก”
ขอขอบคุณ
ข้อมูลคะ?
“นภันต์ เสวิกุล”
ผู้บันทึกย่างพระบาทที่ยาตรา
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

image