"โคกหนองนา" ทำตามกระแส หรือ ทำด้วยความเข้าใจ
ในวงเกษตรตอนนี้ คำว่าโคกหนองนาคงได้ยินกันมากไม่ว่าด้านดีหรือด้านลบ
เพราะอาจไม่สวยหรูง่ายดายแบบที่เห็นในเน็ตกัน จึงขอเสนอคำนี้
ทำโคกหนองนาตาม "ภูมิตน"
คำว่า "ภูมิตน"
"ภูมิ" แปลว่า แผ่นดิน , พื้นเพ , ความรู้
"ตน" ก็แปลว่า ตน ไม่ต้องแปลอะไรให้มากความ
แต่ตนต้องรู้จักตนและเข้าใจตนเป็นอย่างดี
บทความนี้มิได้มีเจตนาจะสร้างคำใหม่แต่อย่างใด
เพียงแต่เป็นคำที่ผุดขึ้นมาหลังจากที่ได้คำสอนการอบรม
จากครูอาจารย์ทุกท่านแบบเข้าใจง่ายๆของตนเอง
เพื่อชี้ชัดลงไปในความ"พอประมาณ"แห่งตน
"ความพอประมาณ"หนึ่งใน 3 ห่วง ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
อันประกอบไปด้วย 3 ห่วง 2 เงื่อนไข ความพอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันที่ดี
อันมี ความรู้+คุณธรรม กำกับเป็นรากฐานสำคัญ
โดยจะชี้ไปในแง่การพอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็นเป็นหลัก
เมื่อพื้นฐานดีแล้วค่อยต่อยอดไปตามลำดับ ส่วนในแง่อื่น เช่น ความสวยงาม ความชอบส่วนตัว สิ่งที่อยากจะทำ นั้นขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของตน
โคกหนองนาเป็นสิ่งที่ต้องศึกษาเรียนรู้ให้ดีก่อนลงมือทำ
แต่ก็ "ไม่ติดตำรา" เกินไปจนเป็นความยากลำบากให้กับตนเอง
รอความสมบูรณ์แบบจนไม่เป็นอันได้ทำอะไร
แต่ก็ไม่ได้หมายถึงการไม่ศึกษาหาความรู้ใส่ตน
เพื่อประโยชน์ที่พึงจะได้รับอย่างเหมาะสม
เมื่อจะลงมือทำโคกหนองนาก็ทำตามภูมิตนที่จะทำได้
เช่น ตามหลักต้องมีแหล่งน้ำของตนเอง แต่ยังไม่มีงบประมาณ
หรือเหตุที่จะเอื้อให้ขุดหนองได้ ก็เริ่มต้นด้วยการขุดคลองใส้ไก่เล็กๆ
ด้วยจอบปรับพื้นที่รอฝนจากฟ้าปลูกพืชผักต้นไม้
ช่วงต้นฤดูฝนในช่วงที่ยังไม่มีแหล่งน้ำ
การเอามื้อสามัคคีช่วยกันของผู้คนก็จะขยายผลได้ใหญ่ขึ้นได้
หรือหลักต้องขุดหนองให้คดเคี้ยวเพื่อประโยชน์ตามธรรมชาติ
แต่เหตุให้เราทำได้เป็นสระสี่เหลี่ยม สระคดโค้งเรายังไม่มีกำลังพอจะทำได้
เราก็ใช้ประโยชน์จากสระสี่เหลี่ยมที่มีแหล่งน้ำ สร้างความพออยู่พอกิน
ให้กับตัวเองได้เช่นกันถึงจะไม่ถูกหลักแต่ถ้าใช้เลี้ยงครอบครัวได้
ไม่ต้องเดือดร้อนตนเองก็ถือเป็นอันใช้ได้
มีโอกาสก็ค่อยขยับขยายปรับแต่งตามกำลัง
มองในสิ่งที่มีแล้วใช้ให้เกิดประโยชน์ก็จะได้รับประโยชน์เอง
คำครูอาจารย์การทำโคกหนองนา
"ประโยชน์สูง ประหยัดสุด ศิลปะงามตา"
เริ่มต้นด้วยประโยชน์ที่อยากได้รับ
แต่ถ้าประโยชน์นั้นทำให้ไม่ประหยัด
เกินกำลังที่จะทำได้ก็จะไม่เกิดผล
ก็ควรเลือกประโยชน์ที่เหมาะสมกับกำลัง
ที่จะทำได้และสร้างผลลัพธ์ให้เกิดขึ้นได้จริง
แล้วจึงต่อยอดให้เกิดศิลปะความงดงาม